top of page
Writer's pictureNIA 100 FACES

ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ | มือปราบไวรัส แพทย์นักถอดรหัสพันธุกรรม

Updated: May 30, 2021



คุณหมอนักวิจัยที่มุ่งมั่นศึกษาด้านไวรัสวิทยาและเผยแพร่ความรู้สู่สังคม เพื่อยกระดับการสร้างองค์ความรู้ใหม่ในวงการสาธารณสุขไทย


นับตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 จนกลายเป็นหายนะทางสาธารณสุขและเศรษฐกิจระดับโลกที่ส่งผลกระทบไปทั่วทุกหนแห่ง ประเทศไทยเองก็ต้องรับศึกหนักไม่ต่างจากประเทศอื่น ในภาวะโรคระบาดใหญ่ที่ประชาชนตกอยู่ในความสงสัยเคลือบแคลงใจว่าเราจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้อย่างไร ชื่อคุณหมอท่านหนึ่งที่พบเห็นผ่านสื่อแทบทุกสำนักคือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


คุณหมอเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางคนแรก ๆ ในประเทศไทยที่ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ทั้งยังนำประสบการณ์ทำงานด้านไวรัสวิทยากว่า 40 ปี มาทำประโยชน์แก่ส่วนรวมด้วยการเป็นที่ปรึกษาสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ให้แก่รัฐบาลอีกด้วย “เดิมทีผมเป็นกุมารแพทย์ที่ดูแลโรคตับเด็ก ถามว่าทำไมมาเชี่ยวชาญเรื่องไวรัสได้ เพราะผมเรียนรู้มาตลอด 40 ปีที่ผ่านมา เริ่มจากทำวิจัยไวรัสตับอักเสบ และวัคซีนโรคไวรัสตับอักเสบ ก่อนจะขยายขอบเขตไปทำวิจัยเรื่องไวรัสตัวอื่น ๆ เพราะใช้เทคโนโลยีเดียวกัน แต่องค์ความรู้เกิดใหม่อยู่เสมอ ทุกวันนี้ผมจึงเรียนรู้จากลูกศิษย์นักวิจัยรุ่นใหม่เยอะมาก เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้กันทำให้เราได้ความรู้ใหม่ตลอดเวลา”


คนทั่วไปอาจเพิ่งรู้จักนายแพทย์ยงในฐานะ “มือปราบโควิด-19” ที่คอยเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคอย่างสม่ำเสมอ แต่ในวงการแพทย์ต่างรู้จักกันดีว่า นายแพทย์ยงเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ซึ่งสร้างผลงานที่มีคุณูปการแก่วงการสาธารณสุขไว้มากมายในฐานะนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการทุ่มเทวิจัยวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีกว่า 30 ปี การถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคระบาดหลายโรค เช่น ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ไข้ปวดข้อยุงลาย รวมถึงโรคทางไวรัสต่าง ๆ ตามฤดูกาลอีกมากมาย ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการควบคุมโรคอย่างทันท่วงที สามารถลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตลงได้ และมีผลงานเผยแพร่ในวารสารนานาชาติมากกว่า 600 เรื่อง มีการอ้างอิงสูงอยู่ในระดับ 2% ของนักวิจัยทั่วโลกในศาสตร์เดียวกัน


การทำงานวิจัยต้องเกาะติดระยะยาว บางทีอาจยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนในวันนี้ แต่การสร้างคนและสร้างพื้นฐานให้แน่น เพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคตเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาล

วันข้างหน้าอาจมีโรคอื่นที่รุนแรงและแพร่ระบาดรวดเร็วกว่าโควิด-19 อุบัติขึ้นมาอีก เป็นเรื่องของอนาคตที่ไม่มีใครตอบได้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราสามารถเตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้าได้คือองค์ความรู้และงานวิจัยด้านไวรัสวิทยา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการต่อสู้กับโรคระบาด “โดยส่วนตัวแล้วเวลาทำงานวิจัย ผมไม่เคยคิดเลยว่ามันจะขึ้นหิ้ง อย่างการถอดรหัสพันธุกรรมในภาวะปกติ ก็มีคนตั้งคำถามว่าถอดไปทำไม ถอดเสร็จก็ขึ้นหิ้ง ผมพูดเสมอว่าขอให้มีของบนหิ้งเยอะ ๆ เถอะ สักวันเมื่อของเต็มหิ้งมันจะเป็นห้างเอง วันหนึ่งมันจะต้องได้นำไปใช้ประโยชน์ การทำงานวิจัยต้องเกาะติดระยะยาว บางทีอาจยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนในวันนี้ แต่การสร้างคนและสร้างพื้นฐานให้แน่นเพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคตเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาล”


บทบาทสำคัญที่นายแพทย์ยงทำมาตลอดชีวิตของการเป็นแพทย์ และรับราชการคือการค้นคว้าวิจัยด้านไวรัสที่ก่อโรค เพื่อมุ่งสร้างองค์ความรู้ใหม่จากข้อมูลการศึกษาในประเทศไทย เพราะถึงแม้ในต่างประเทศจะมีการศึกษาเรื่องนี้กันอย่างแพร่หลาย แต่ก็ใช่ว่าทุกข้อมูลหรือทุกกรณีศึกษาจะนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้ทั้งหมด จึงต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ภายในประเทศเพื่อวางรากฐานงานวิจัยด้านสาธารสุขในไทยให้แข็งแรง


นอกจากนี้ นายแพทย์ยงยังให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก ซึ่งมีผู้ติดตามหลักแสน “เดิมทีผมไม่เคยสนใจเฟซบุ๊กเลย แต่ในที่สุดผมก็อดไม่ได้ เมื่อหลานผมเกิดมาแล้ว แม่เขาไปหาข้อมูลเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากอินเทอร์เน็ต ซึ่งผมพบว่าสิ่งที่ส่งต่อกันมา มีการใส่ความเห็นลงไป เป็นของจริง 20% เป็นข้อมูลที่มีการเติมความเห็นเข้าไปเยอะมาก ผมทนไม่ได้ เลยคิดว่าลองมาให้ความรู้ที่ถูกต้อง ผมจึงเปิดเฟซบุ๊กเพื่อให้ความรู้ทางการแพทย์ที่ถูกต้อง และทำต่อเนื่องเรื่อยมาประมาณ 6 ปีแล้ว ก่อนเขียนผมจะค้นคว้าให้ดีที่สุด แนวทางของผมคือให้ข้อมูลแล้ว คุณจะต้องไปตัดสินเอง ไม่จำเป็นต้องเชื่อทั้งหมด”


 

Vaccinate the Society Through Knowledge and Research

Amidst the chaos of COVID-19 pandemic, a national hero has emerged. Doctor Yong, a lecturer at the Department of Pediatrics, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University, has been devoting himself to research on viral infections over the past 40 years. He has been educating people on Facebook about this malicious virus since the very first day it arrived into Thailand. Previously, Doctor Yong barely thought of social media sites as a knowledge sharing platform. He changed his mind right after he had seen his daughter surfing on the internet about breast milk, and realised that only about 20% of the information was truly helpful. He could not ignore that, so he created a Facebook account to provide medical knowledge regarding COVID-19 to the public. As Doctor Yong mentions, new knowledge always emerges, so he keeps learning new things and exchanges his own knowledge with young-blood researchers. “The exchange of knowledge allows us to gain new knowledge all the time,” he asserts. Until now, Doctor Yong has still been working on studying the virus, hoping that one day his study would be useful to people and society at large.

187 views0 comments

Comments


bottom of page