top of page

ประณิธาน พรประภา | รักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านศิลปะและดนตรี

Writer's picture: NIA 100 FACESNIA 100 FACES

Updated: May 29, 2021



เพื่อให้คนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ประณิธาน พรประภาจึงเลือกวิธีการสร้างสรรค์จัดเทศกาลดนตรีสอดแทรกแนวคิดรักษ์โลก


พีท – ประณิธาน พรประภา คือผู้ก่อตั้ง Wonderfruit แพลตฟอร์มการสื่อสารประเด็นสิ่งแวดล้อมในรูปแบบงานเทศกาลที่ใช้ศิลปะวัฒนธรรม ดนตรี และอาหารเป็นสื่อกลาง ในแต่ละปี Wonderfruit มีผู้ร่วมงานที่หลั่งไหลมาจากทั่วทุกมุมโลกมากกว่า 15,000 คน


“Wonderfruit ไม่ใช่เทศกาลดนตรี แน่นอนว่าดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของงาน แต่แค่ 20-30% เท่านั้น วัตถุประสงค์ของเราต่างจากเทศกาลดนตรี คือเราต้องการใช้ศิลปะหรือความคิดสร้างสรรค์มาสื่อสารเรื่องราวของสิ่งแวดล้อม” ประณิธานเล่าว่า ทุกองค์ประกอบของ Wonderfruit เรียกว่าเป็นนวัตกรรมที่ออกแบบมาเพื่อนำเสนอประเด็นสิ่งแวดล้อมกับผู้ร่วมงาน คุณจะไม่ได้เห็นพลาสติกหรือภาชนะที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งในงานนี้ โครงสร้างของสิ่งปลูกสร้างเป็นโครงไม้ไผ่เพราะเป็นวัสดุที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด มีงานศิลปะที่สะท้อนแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้กิจกรรมภายในงานก็มีหลากหลายตลอดทั้งวันเพื่อให้คนอยู่ที่นี่ได้หลายวันโดยไม่เบื่อ ทั้งเวิร์คช็อป ทอล์ก และกิจกรรมในประเด็นสิ่งแวดล้อม สุขภาพ จิตวิญญาณ ศิลปะและวัฒนธรรม “ถ้าเราพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมตรง ๆ อาจจะไม่ค่อยมีใครฟัง เราเลยเลือกที่จะแสดงให้เห็นว่ามันมีทางออกและตัวเลือกอื่น ๆ เพราะถ้าเราเองทำไม่ได้อย่าไปพูดเลย”


จาก Think Earth สู่ Wonderfruit

ความรักต่อสิ่งแวดล้อมของประณิธานมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่วัยเด็ก ทั้งจากประสบการณ์การใช้ชีวิตที่แวนคูเวอร์ตั้งแต่อายุยังน้อย รวมถึงการได้มีส่วนร่วมกับโครงการ Think Earth ที่ก่อตั้งโดย ดร.พรเทพ พรประภา ผู้เป็นพ่อ ในปี พ.ศ. 2533 เพื่อปลูกฝังความหวงแหนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับคนรุ่นใหม่ และด้วยเห็นช่องว่างระหว่างการเชื่อมโยงศิลปะเข้ากับการสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อม เขาจึงตั้ง บริษัท สแครทช์ เฟิร์สท์ จำกัด ขึ้นมาเพื่อดำเนินโปรเจ็กต์ Wonderfruit เพื่อทำงานด้านสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีที่สร้างสรรค์


“เราเลือกใช้รูปแบบงานเทศกาลเพราะมันทำให้คนมารวมตัวกันได้หลายวัน ทำให้มีโอกาสทำอะไรได้หลายอย่าง มันน่าสนใจว่าถ้ารวมคนมาได้ขนาดนั้นแล้วเราจะพูดอะไรกับพวกเขาได้บ้าง แต่ความยากคือเราจะสื่อสารเรื่องที่ต้องการจะพูดกับคนที่มางานอย่างไรให้เขาเข้าใจ เพราะหลายคนก็อาจจะยังคิดว่ามันเป็นแค่เทศกาลดนตรีสนุก ๆ แต่มันก็ต้องสนุกนะเพื่อที่จะดึงให้คนมา ไม่อย่างนั้น จะกลายเป็นงานวิชาการซึ่งงานแบบนั้นเขาก็ดึงกลุ่มเป้าหมายของเขาได้ดีอยู่แล้ว แต่กลุ่มเป้าหมายของเราคือคนทั่วไป เราต้องการทำให้เขาเริ่มสนใจสิ่งแวดล้อมด้วยศิลปะ ด้วยอาหาร และสิ่งที่เขาเสพอยู่แล้วทุกวัน เขาอาจจะมาเพราะความสนุก แต่พอมาแล้วเราอยากให้เขาได้แนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมหรือแรงบันดาลใจกลับไป”


พูดตรง ๆ อาจจะไม่ค่อยมีคนฟัง เราเลยเลือกที่จะดึงคนด้วยศิลปะ ดนตรี และความสนุก แต่สุดท้ายแล้วอย่างน้อยเขาก็จะได้แนวคิดอะไรติดตัวกลับไป

แรงกระเพื่อมและการส่งต่อแรงบันดาลใจ

“ในปีแรก ๆ คนที่มางานส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแนวคิดของเราคืออะไร แต่มันก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ ปีที่ผ่านมาประมาณ 80% เข้าใจแล้วว่าเราต้องการสื่ออะไร ส่วนพฤติกรรมเขาเปลี่ยนไปแค่ไหนอาจจะตามไปวัดได้ยาก แต่อย่างปีที่แล้วเราไม่มีแก้วแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในงานเลย ทุกคนจะเอาแก้วมาเองหรือมาซื้อในงานก็ได้ พองานจบคุณก็จะมีแก้วนี้ แล้วหลาย ๆ คน เขาก็ยังใช้แก้วนี้ต่อในชีวิตประจำวันของเขา ผมคิดว่าถ้าเราค่อย ๆ ทำให้คนรู้สึกว่าเรื่องพวกนี้มันก็ไม่ได้ยากนะที่จะทำ แล้วมันก็น่าจะติดตัวอยู่กับเขาต่อไป”


ประณิธานยังกล่าวทิ้งท้ายถึงคนอื่น ๆ ที่อาจจะอยากลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างให้สังคมอีกว่า “ผมคิดว่าจุดมุ่งหมายของชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ และในที่สุดแล้วมันเลี่ยงไม่ได้ที่จุดมุ่งหมายของคุณมันจะไปเกี่ยวพันกับคนอื่น ๆ ในสังคม ดังนั้นถ้าจุดมุ่งหมายของชีวิตเรามันทำให้ทั้งชีวิตของเรา ของคนรอบข้าง สังคม และสิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้ มันก็จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ผมเชื่อว่าทุกคนมีจุดมุ่งหมายแบบนั้นได้และก็อยากให้กำลังใจทุกคนในการหามันให้เจอครับ”


 

Environmental Wonder: Conserving Nature with Art and Music

The environmental mindset of Pranitan Phornprapha or ‘Pete’ dates to his childhood spent in Vancouver and his contribution to his father (Dr. Pornthep Phornprapha)’s 1990-founded project named Think Earth. Having realised the opportunity to bridge arts and communicating environmental issues, he founded Scratch First Co., Ltd., which gave a rise to the Wonderfruit project. Wonderfruit serves as a platform for communicating environmental issues through arts, culture, music, and food. Every year, it welcomes more than 15,000 participants worldwide. Pete thrives to make this platform the most environmentally responsible whilst keeping participants entertained. “If we talk about environmental issues directly, chances are not many people will be interested. Therefore, we offer them alternatives because actions speak louder than words.”, quoted Pete. “Year by year, participants gradually gain more understanding of what we have been trying to communicate. By showing them that behavioural change is not that difficult to achieve, I believe that such environment-friendly behaviour continues to stick to them. For instance, we disallowed single-use drinking cups at last year’s festival and observed surprising compliance from the participants.” For those that want to do something for the society, he added, “It is crucial to think about the goal and be aware that such goal is inevitably intertwined with other several members of the society.”

452 views0 comments

Comments


โทรศัพท์ : 02-017 5555  I  โทรสาร :  02-017 5566  I  อีเมล์ : info@nia.or.th

© 2022 สมิทธิ์ บุญชุติมา

  • Facebook
  • Instagram
bottom of page