จากศาสตร์ที่สอนกันภายในครอบครัว ปรีดาได้พัฒนาการนวดแผนไทยไปอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย
เมื่อกล่าวถึง “สัญลักษณ์” ที่บ่งบอกถึงความเป็น “ประเทศไทย” นอกจากศิลปวัฒนธรรมและสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามแล้ว ศาสตร์การนวดแผนไทยก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ได้รับการกล่าวขวัญไปทั่วโลก หากจะกล่าวถึง “ต้นตำรับ” ของการนวดแผนไทย แน่นอนว่าจะต้องนึกถึง “วัดโพธิ์” ที่นี่คือโรงเรียนแพทย์แผนโบราณแห่งแรก ถือกำเนิดอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 2498 โดยมีปรีดา ตั้งตรงจิตร ทายาทรุ่นที่ 2 ดำเนินกิจการมาพร้อมกับผู้เป็นบิดาจนถึงปัจจุบัน ภายใต้ชื่อ โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์)
เดิมทีวิชาการนวดแผนโบราณ เป็นศาสตร์ที่สอนกันอยู่ภายในครอบครัวเท่านั้น และไม่ได้รับความนิยมแพร่หลายอย่างในปัจจุบัน ปรีดาซึ่งจบการศึกษาทางด้านเภสัชแผนปัจจุบัน ได้เข้ามาเป็นผู้บุกเบิกหลักสูตรการนวดแผนไทยร่วมกับคุณพ่อ เริ่มตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ ควบคู่กับตำราการนวดแผนโบราณทั้งที่มีการบันทึกไว้ และการศึกษาจากผู้รู้ที่ได้รับสืบทอดองค์ความรู้ด้านการนวดแผนโบราณผสมผสานกับศาสตร์การนวดของประเทศอื่น ๆรวมถึงศาสตร์การแพทย์แผนปัจจุบันจนได้หลักสูตรการนวดแผนโบราณที่เป็นมาตรฐานและได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการเป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทย
นวัตกรรมจะเกิดได้ ต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงศาสตร์การนวดแผนไทยก็เช่นเดียวกัน ที่ไม่ใช่เพียงรูปแบบการนวดที่เปลี่ยนไป แต่จะต้องเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ของโลก
ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีทีได้เปิดสอนการนวดแผนโบราณ มีหลักสูตรการเรียนหลากหลาย ปรีดาเล่าว่า เนื้อหาหลักสูตรนั้นไม่ได้เป็นไปตามแบบดั้งเดิมทุกประการ แต่มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการเพิ่มเติมเนื้อหาที่เห็นว่าจำเป็นเข้าไปด้วย อาทิ หลักการปฐมพยาบาล หลักการทางชีววิทยา เพื่อเสริมในเรื่องของความสะอาด ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นการสร้างให้ศาสตร์การนวดแผนไทยมีมาตรฐานที่ชัดเจนยิ่งขึ้น นับเป็นนวัตกรรมการแพทย์ทางเลือกที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง
ปัจจุบันโรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ ได้สร้างบุคลากรด้านการนวดแผนไทยไปแล้วนับแสนคน ทั้งชาวไทยและต่างชาติ มีทั้งมาเรียนเพื่อไปประกอบอาชีพนวดแผนไทย และมาเรียนรู้เพื่อประกอบกับศาสตร์การแพทย์แผนปัจจุบันโดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนชาวต่างชาติซึ่งมีทั้งนักกายภาพบำบัด นักวิทยาศาสตร์การกีฬา แพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูและด้านกระดูก ปรีดาบอกว่านับเป็นเรื่องดีที่ทำให้ต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม จากสิ่งที่นักเรียนถาม และการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างการแพทย์แบบไทย กับการแพทย์แบบตะวันตก ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่อีกมากมาย เช่น การนวดเด็กเพื่อปรับสรีระทางร่างกาย ต่อยอดไปถึงการศึกษาวิจัยด้านการนวดเด็กออทิสติก ที่ช่วยให้มีเด็กพฤติกรรมการนอน และมีทักษะการเข้าสังคมที่ดีขึ้น การนวดเพื่อกระตุ้นน้ำนมแม่หลังคลอด จากศาสตร์การแพทย์แผนโบราณแบบร่วมสมัยนี้เอง ทำให้เกิดความร่วมมือกับโรงพยาบาลที่รักษาแบบการแพทย์แผนปัจจุบัน เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการรักษาและฟื้นฟูสุขภาพ
ไม่เพียงแต่การพัฒนาหลักสูตรการนวดแผนไทยเท่านั้น คุณปรีดายังมีแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์สำหรับการนวดแผนไทย ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นพัฒนามาจากตำราการนวดแผนโบราณ เช่น การใช้ลูกประคบ ซึ่งชาวต่างชาติต้องการนำไปใช้และจำหน่ายที่ต่างประเทศ แต่ติดปัญหาเรื่องการค้าระหว่างประเทศด้านการนำเข้าพืชและแมลงอนุรักษ์ตามอนุสัญญาไซเตรส ทางโรงเรียนจึงได้คิดค้นวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวนี้จนเป็นผลสำเร็จ และยังคิดค้นการสกัดสมุนไพรที่ใช้ในลูกประคบ ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้อีกมากมาย
“นวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ศาสตร์การนวดแผนไทยก็เช่นเดียวกันที่ไม่ใช่เพียงรูปแบบการนวดที่เปลี่ยนไป แต่จะต้องเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ของโลกในยุคปัจจุบันและพฤติกรรมของคนด้วย หากเรายังคงยืดถือแต่เรื่องเดิม ๆ โดยไม่มีการปรับปรุงและพัฒนา ก็จะทำให้เจริญได้ช้า”
Integrating Modern Science into Thai Traditional Massage
Besides art, culture, and beautiful tourist attractions, Thai massage is regarded worldwide as a unique symbol that represents our country. The science of Thai traditional massage was originally taught in a family from generation to generation and was not popular as it is in the present. Preeda, who graduated in modern medicine, applied his knowledge to improve the traditional massage until the standard was agreed upon and accredited by the Ministry of Education as the first massage course in Thailand. Throughout the past 60 years, the course has constantly been improved. The improvement helped make Thai massage an alternative medicine innovation with a higher standard. About 100,000 students, both Thai and foreign, took this course to implement their massage knowledge, especially foreign students in physical therapy, sports science, rehabilitation and medicine. Preeda did not only improve the lesson for Thai massage, but he also generated products or pieces of equipment particularly for Thai massage such as herbal compress balls which are very popular in foreign countries. He concluded that changes lead to innovation. The science of Thai massage is one example. “If we are attached to the same thing, without any improvement, it will be hard to grow,” Preeda commented.
Comentarios