จากของเหลือทางการเกษตร สู่ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม จากการค้นคว้าของนักวิจัยหญิงผู้มองเห็น “มูลค่า” ที่หล่นหายในกระบวนการแปรรูป
“อาจารย์บี๋ - ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์” นักวิจัยแห่งภาควิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่รู้จักกันบนเวทีโลกในฐานะนักวิจัยชาวไทยที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติสูงสุดจากหลายสถาบันในยุโรป มีงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์กว่า 180 บทความ และยังคงมีงานวิจัยขยายผลเชิงพาณิชย์ออกมาอย่างต่อเนื่องทุกปี เริ่มต้นจากการตีพิมพ์งานวิจัยเกี่ยวกับกาวไหมในปี 2552 ว่าด้วยการค้นพบว่าคุณสมบัติการกระตุ้นคอลลาเจนในกาวไหม ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการสาวไหม ต่อยอด ไปสู่ผลิตภัณฑ์แผ่นปิดรักษาแผลที่มีประโยชน์ในทางการแพทย์ และมีผลงานต่าง ๆ ที่น่าสนใจตามมามากมาย เช่น ถุงเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน แผ่นมาสก์หน้าจากวุ้นมะพร้าว ถ่านกัมมันต์จากกะลา และอาหารเพิ่มภูมิคุ้มกันในสัตว์น้ำจากถั่งเช่า
มองหา ‘มูลค่า’ ด้วยสายตาของนักวิจัย แนวคิดตั้งต้นในการทำการวิจัยขยายผลทางพาณิชย์ของอาจารย์บี๋ เริ่มจากการมองหาวิธีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งที่มีมากและแข็งแรงที่สุดในประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งก็คือสินค้าการเกษตร มาประยุกต์ให้เข้ากับสินค้าที่มีความต้องการสูงมากที่สุดอันดับต้น ๆ ในตลาดสินค้าโลกอย่างวัสดุทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เธอมองว่าสินค้าที่ขายได้ตามปกติมีมูลค่าทางการตลาดเป็นของตัวเองอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตนั้นอาจมีคุณค่าบางอย่างที่ถูกละเลย ซึ่งอาจจะนำไปสู่มูลค่าทางการตลาดที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร “ของมันเหลือทิ้งเพราะเรากินมันเข้าไปไม่ได้ แต่ถามว่ามันยังมีประโยชน์อยู่หรือเปล่า เราคงไม่รู้เลยถ้าเราไม่ทำการวิจัย” และนั่นก็เป็นที่มาของโพรเจกต์สร้างชื่อที่นำ “กาวไหม” ของเหลือจากกระบวนการสาวไหมมาค้นคว้าต่อยอดให้เป็นแผ่นปิดแผล แก้ได้ทั้งปัญหาราคาวัสดุทางการแพทย์ที่สูงมาก และเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนเกษตรกรผู้เลี้ยงไหมในคราวเดียวกัน
ของมันเหลือทิ้งเพราะเรากินมันเข้าไปไม่ได้ แต่ถามว่ามันยังมีประโยชน์อยู่หรือเปล่า เราคงไม่รู้เลยถ้าเราไม่ทำการวิจัย
ไอเดียของนักวิจัยและผู้หญิงคนหนึ่ง
“คนเราใช้เงินทั้งชีวิตเพื่อรักษาสุขภาพ ยิ่งเป็นผู้หญิง อายุเท่าไรก็ยังต้องสวยด้วยนะคะ” อาจารย์บี๋เล่าว่า ตัวเองเป็นคนชอบการชอปปิงตามประสาผู้หญิงทั่วไป ทุกครั้งที่ซื้อของมาก็จะพบว่าไม่ว่าจะเป็นสินค้าแบบไหนก็มักจะมีส่วนเล็กส่วนน้อยที่ยังให้พัฒนาต่อยอดไปได้เสมอ ผลิตภัณฑ์เสริมความงามและเครื่องสำอางเป็นหนึ่งในสิ่งที่เธอมีความรู้ความเข้าใจมากที่สุด ทั้งในฐานะนักวิจัยและผู้หญิงคนหนึ่ง การสังเกตและจับเอาข้อด้อยของสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม จึงเป็นส่วนหนึ่งที่จุดประกายความคิดใหม่ ๆ ในการเริ่มต้นทำวิจัย
ส่วนความสนุกในฐานะนักวิจัย เธอคิดว่าคือการหาคำตอบ การค้นพบระหว่างทาง และการตั้งคำถามต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด เพราะสิ่งนี้โลกจึงมีของสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอด ความกระหายใคร่รู้ เป็นทั้งแรงผลักดันและตัวตนของนักวิจัยในคราวเดียวกัน ซึ่งการคิดทบทวนอย่างต่อเนื่องนั้นเป็นธรรมชาติของนักวิจัยอย่างแท้จริง
โลกเคลื่อนด้วยความเข้าใจ
“ถ้าเกิดว่ามีงานวิจัยที่ไม่สำเร็จ จะมีใครมาบอกไหมว่างานนี้มันล้มเหลว” อาจารย์บี๋ยอมรับว่าไม่ใช่ทุกงานวิจัยของเธอจะประสบผลสำเร็จเพียงแต่เธอมองว่าผลลัพธ์ของความล้มเหลวนั้นไม่ได้เป็นเรื่องสูญเปล่า ถือเป็นการค้นพบในรูปแบบหนึ่ง ทั้งการค้นพบวิธีการที่ไม่ได้ผล และค้นพบโจทย์ใหม่ ๆ ส่วนในภาคธุรกิจ เธอแนะนำว่านักลงทุนที่อยากจะนำการวิจัยขยายผลเชิงพาณิชย์ไปปรับใช้ ก็ขอให้ลงทุนลงเวลาในการศึกษาธรรมชาติ และวัตถุดิบในงานวิจัยให้ถี่ถ้วน เพราะการทำธุรกิจกับสินค้านวัตกรรมเพียงเพราะมัน “ใหม่” นั้นเพิ่มความเสี่ยงให้กับตัวธุรกิจมากเกินจำเป็น แต่ถ้าการร่วมมือกันเกิดจากความเข้าอกเข้าใจระหว่างนักวิจัยและผู้ลงทุนที่ทำการศึกษามาเป็นอย่างดี การที่ผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยของไทยจะประสบความสำเร็จอย่างสวยงามไม่ใช่เรื่องเกินจะคาดหวัง
Regaining the Forgotten Values of Agricultural Waste
Self-identified shopaholic, Prof. Dr. Pornanong Aramwit is a researcher at Department of Pharmacy Practice, Faculty of Pharmaceutical Sciences, Chulalongkorn University, Thailand. The recognition of her 180 publications in the field granted her the awards of honour from several institutions in Europe. Among the great variety of research outputs, she is best known for her work from 2009. It focused on collagen production using silk sericin, which is regarded as waste product in the textile industry, and its application in wound healing. Lots of her works, in addition to this one, follow the common theme of adding value to the abundant agricultural products of Thailand by turning them into biomaterials and pharmaceutical products. ”Just because something is inedible does not mean it should be regarded as waste. We will never know the hidden benefit of it until we conduct research.”, quoted Prof. Dr. Pornanong. The joy of doing research, according to her, is an endless journey of asking new questions and discovering new answers. When it comes to commercialisation and business implication, her advice to investors emphasises collaboration between investors and researchers, especially when dealing with innovative and relatively ‘new’ materials.
Comentários