ปณิธานที่อยากจะเห็นโลกใบนี้ดีกว่าที่เป็นอยู่ อาจารย์หนุ่มท่านหนึ่งแห่งภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ดร.สมพร ช่วยอารีย์ ได้ค้นคว้าทดลองเพื่อสร้างนวัตกรรมในเรื่องของพลังงานทางเลือก พลังงานสะอาดโดยเฉพาะในเรื่องของโซลาร์เซลล์ และเผยแพร่แนวคิดนี้ด้วยการนำแผ่นโซล่าเซลล์ไปติดบนหลังคารถแล้ววิ่งไปทุกแห่งหนเปรียบเสมือนเป็นมหาลัยเคลื่อนที่
ดร.สมพรเล่าว่า ได้ศึกษาและลงมือทำเรื่องพลังงานทางเลือกซึ่งเป็นความสนใจส่วนตัว ลองผิดลองถูก จนกระทั่งสามารถติดตั้งระบบไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ที่ใช้ภายในครัวเรือนได้อย่างเต็มระบบ จนเป็นแนวคิดด้านพลังงาน คือ การกระจายศูนย์การผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการผลิตไฟฟ้า ณ จุดที่ผู้ใช้ไฟฟ้าอาศัยอยู่กระจายไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ
“การผลิตไฟฟ้าควรกระจายกันตามที่ที่ผู้ใช้ไฟอยู่ เราไม่ต้องสร้างโรงงานใหญ่แล้วลากสายส่งไปเป็นแนวคิดพึ่งตนเอง ปัจจุบันคนไทยอยู่ในบริบทของการรับเข้ามา ผมคิดว่าชาวบ้านทุกหลังคาเรือนควรจะมีสิทธิเสรีภาพในการผลิตพลังงาน”
ดร.สมพร เป็นนักวิจัยที่นำเอาความรู้ทางวิชาการ มาประยุกต์ให้เกิดเป็นรูปธรรมที่สามารถนำมาใช้กับสังคมจนได้ชื่อว่าเป็นนักวิชาการผู้ลงมือปฏิบัติ สร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ช่วยให้ผู้คนสร้างพลังงานหมุนเวียนและสร้างเครือข่าย “คนกินแดด” เพื่อเชื่อมโยงกันระหว่างคนที่ทำโซลาร์เซลล์ ซึ่งมีความสำคัญมากที่จะขับเคลื่อนภาคใต้ไปสู่การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในภาคใต้
“รถบันดาลไฟ” ถือเป็นผลงานสำคัญและเป็นกลไกในการขับเคลื่อนกระจายความรู้เรื่องพลังงานสะอาดให้ได้มากที่สุด โดยจุดเริ่มต้นคือการติดตั้งโซลาร์เซลล์ไว้บนจักรยาน และมอเตอร์ไซค์ และพัฒนาไปสู่บทเรียนนอกตำราด้วยรถยนต์ส่วนตัวที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์
“ผมลงพื้นที่ ผมประทับใจอยู่อันหนึ่ง ชาวบ้านพูดว่ามหาวิทยาลัยก็เหมือนปากกา ชุมชนก็เหมือนกระดาษ ปากกามันต้องเขียนในกระดาษถึงจะเห็นตัวอักษร ถ้าปากกาไปเขียนบนท้องฟ้าก็คงจะไม่เห็นอะไร แต่ผมก็คิดว่าทั้งมหาวิทยาลัยและชุมชนนั้นเราต่างก็สามารถเป็นปากกาได้ และเราจะมาช่วยกันเติมน้ำหมึก น้ำหมึกก็คือบัณฑิตที่เรากำลังสร้าง สร้างให้เขาเก่งดีมีคุณภาพเพื่อที่จะไปเขียนต่อในชุมชน ให้เขาไปถ่ายทอดความรู้ ไปพัฒนาให้ชุมชนและประเทศชาติให้ยั่งยืนสืบไป”
พลังงานหมุนเวียนคือทางเลือกใหม่ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ ในภาคครัวเรือน ภาคการเกษตร เพื่อให้พึ่งพาตนเอง
จากจุดเริ่มต้นที่ได้เข้าร่วมก่อตั้งเครือข่าย โครงการเฝ้าระวังภัยพิบัติลุ่มน้ำปัตตานี จนเกิดแนวคิดเรื่องของความมั่นคงด้านพลังงาน และการเริ่มต้นทดลองติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ จนถูกพัฒนาไปสู่ “มหา’ลัยเคลื่อนที่” ที่สร้างกลไกการพึ่งตนเองผ่าน โมเดล 1 เรือน 5 โรง ให้กับชุมชนทั่วภาคใต้
“1 เรือน 5 โรงของผม คือ ใน 1 ครัวเรือนนั้นต้องมี 5 โรงดังนี้ หนึ่ง ‘โรงไฟฟ้า’ คือผลิตกระแสไฟฟ้าได้เอง สอง ‘โรงน้ำประปา’ คือการจัดเก็บน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำจากฟ้า น้ำผิวดิน หรือน้ำใต้ดิน สาม ‘โรงแก๊ส’ คือการนำเอาเศษอาหารที่เหลือจากครัวเรือนมาหมักเป็นแก๊สเพื่อไปหุงต้ม สี่ ‘โรงอาหาร’ คือปลูกพืชผักกินเอง คือปลูกทุกอย่างที่กิน และกินทุกอย่างที่ปลูก และห้า ‘โรงเรียน’ คือการนำเอาทั้ง 4 โรงมารวมกันเพื่อสร้างเป็นองค์ความรู้ สามารถเป็นศูนย์เรียนรู้ระดับครัวเรือนเพื่อขยายผลต่อในระดับต่อ ๆ ไปได้”
ดร.สมพรยึดหลักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เพื่อส่วนรวม เพื่อที่จะให้ทุกชีวิตอยู่ได้อย่างเพียงพอและพอเพียง แต่ทุกอย่างจะสำเร็จได้ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือความร่วมมือจากทุก ๆ ฝ่ายนั่นเอง
ดร.สมพรนำแนวคิดพลังงานทางเลือก การติดตั้งโซลาร์เซลล์ไว้บนรถ บนดาดฟ้า การใช้ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เต็มระบบ รวมถึงการสร้างชุมชนเครือข่ายด้วยข้อมูลทางคณิตศาสตร์นั้น มีจุดหมายที่การพึ่งพาตัวเองเป็นสำคัญ เกิดความมั่นคงด้านพลังงานที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
Asst. Prof. Dr.Somporn Chuai-Aree | Prince of Songkla University.
Clean energy for the society and the nation
“The utilization of renewable energy in the household and agricultural sectors can promote self-sufficiency in the local community.”
Dr. Somporn Chuai-aree, a lecturer at the Department of Mathematics and Computer Science at the Faculty of Science and Technology of Prince of Songkla University, Pattani Campus, wishes to see the community become energy self-sufficient. He has been researching alternative energy breakthroughs, with a concentration on solar cells. The plan is to affix them to the car’s roof. He began his study on alternative energy with basic trial and error until the solar power system could be fully established for a community. The dispersion of electricity producing centers is the main idea of his project. This would generate power where users live, and extend to other places across the country.
“Electric-powered automobiles” are regarded as vital efforts in spreading as much clean energy as possible. The first step is to install solar cells on bicycles and motorbikes, which then would progress to a solar panel on a private automobile. Another university-community application notion is “a model of one home and five buildings for villages in southern Thailand”. Somporn describes the 5 structures in one home as a self-electricity power plant, a storage water plant, a fermentation gas-storage plant, a self-vegetable grow canteen, and an all-in-one school.
By installing solar cells on the automobile, on the roof, and using 100% solar power, including the construction of a community network based on mathematical data, he hopes to foster self-sufficiency to attain sustainable energy security in the community.
Comments