top of page

สัญญา มัครินทร์ | มหา’ลัยไทบ้าน ที่ไม่บ้านอย่างที่คิด

Writer's picture: NIA 100 FACESNIA 100 FACES

Updated: May 13, 2023




ความรู้มีอยู่รอบตัว หากเรารู้จักใช้ประโยชน์ ทุกที่ก็คือโรงเรียน สิ่งนี้เป็นแนวคิดที่ช่วยทลายกำแพงความคิดที่ว่าความรู้ต้องอยู่เฉพาะในระบบการศึกษาในโรงเรียนเท่านั้น หากแต่ความรู้อยู่ที่มุมมองการสร้างโอกาสและการให้โอกาส ซึ่งผู้ที่มีมุมมองการศึกษาที่เรียกว่าเปลี่ยนแปลงแนวคิดเดิมคือ ครูสอยอ หรือ ครูน้อย มีชื่อจริงว่า นายสัญญา มัครินทร์ เป็นครูโรงเรียนสีชมพูศึกษา อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น ผู้ที่เปิดมหา’ลัยไทบ้าน แหล่งเรียนรู้ที่บ้านเกิดที่มีแนวคิดไม่บ้าน ๆ เหมือนที่หลายคนคิด เพราะได้ขยายแนวคิดนี้จนก่อเกิดเป็นรูปธรรม สร้างการเรียนรู้ต่อยอดให้เกิดขึ้นในสังคมและผู้คน


ฉายาครูสอยอ มาจากอักษรย่อชื่อสัญญานั่นเองเรียกว่าเป็นฉายานามที่ถูกตั้งขึ้นสมัยเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น หลายคนจึงเรียกติดปากมาจนถึงวันนี้ จุดเริ่มต้นของมหา’ลัยไทบ้าน มาจากแนวคิดร่วมกับเพื่อนที่มองเห็นว่าการศึกษาไม่ควรผูกขาดอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่ผู้ที่มีศักยภาพสามารถที่จะสร้างการศึกษาขึ้นมาได้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำและเปิดมิติการศึกษาที่ไม่ได้อยู่แค่เฉพาะในตำราหรือห้องเรียน หากแต่วิถีชีวิตจริงเป็นสื่อการสอนที่ดีที่สุดนั่นเอง


“ไอเดียนี้เกิดจากการที่เราเชื่อเรื่องการเรียนรู้ ทุกคนมีศักยภาพ และการเรียนรู้ที่ดี คือ การเรียนรู้จากประสบการณ์กันและกันและจากการลงมือทำ เริ่มแรกทำเรื่องการท่องเที่ยวที่บ้านอำเภอสีชมพู ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกล เป็นพื้นที่ที่มีของดีมากมาย จึงคิดว่าถ้าหากจะกลับมาบ้านจะสามารถทำอะไรได้บ้าง จึงเล็งเห็นว่ามีธรรมชาติ มีความทรงจำ มีวัด อาหาร จึงกลับไปย้อนถ่ายรูปเก็บภาพและแชร์ผ่านเฟซบุ๊กตัวเอง ทำให้คนในพื้นที่เห็นว่าที่บ้านเรามีเรื่องราวเหล่านี้อยู่ เมื่อแชร์ไปเรื่อย ๆ ทำให้ได้รับความสนใจจากหลายหน่วยงานในพื้นที่ จึงได้ร่วมกับเพื่อนผู้ที่มีแนวคิดเดียวกันในการคิดและวางแผนออกแบบจนเป็นการท่องเที่ยววิสาหกิจชุมชน ‘ท่องเที่ยววิถีชมพู’ และได้ขยายมาเป็นมหา’ลัยไทบ้านของคนพื้นที่ในปัจจุบัน”


แนวคิดนี้เป็นสิ่งที่สร้างเครือข่ายทางการศึกษาที่สำคัญของคนรุ่นใหม่ ครูสอยอบอกว่า จากการสร้างแหล่งท่องเที่ยวทำให้เกิดการร่วมมือกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ในจังหวัดในต่างอำเภอมาร่วมกันสร้างสิ่งที่เป็นมากกว่าการท่องเที่ยว โดยมีแนวคิด 2 เรื่อง คือ 1) อยากอยู่บ้านและอยากให้ตัวเองมีส่วนร่วมในการพัฒนาบ้านเกิด และ 2) อยากมีเพื่อนที่มีแนวคิดอยากเห็นตัวเองพัฒนาและอยากเห็นบ้านเกิดดีขึ้น ทำให้คนในชุมชนรู้สึกภูมิใจในบ้านตัวเอง อยากมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาชุมชนบ้านตัวเอง ทำให้เกิดการร่วมมือแบบบูรณาการเป็นโปรแกรมห้องเรียนธรรมชาติชุมชนขึ้นมาเรียกว่า “มหา’ลัยไทบ้าน”

ทุกที่คือสถานศึกษา ผมอยากอยู่บ้านและอยากมีส่วนร่วม ในการพัฒนาบ้านเกิดให้เป็นแหล่งเรียนรู้

มหา’ลัยไทบ้านนอกจากจะเปิดให้ความรู้แก่นักเรียนนักศึกษาแล้ว ยังมีโครงการที่จะร่วมกับสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดทำโพรเจกต์ห้องเรียนข้ามขอบ โดยการให้เด็กสาธิตมาเรียนกับชุมชนเก็บเป็นหน่วยกิต เพื่อสร้างให้เด็กเป็นนวัตกรที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม นับเป็นหมุดหมายหนึ่งที่ตั้งใจให้เป็น community base learning เรียนผ่านพื้นที่ของมหา’ลัยไทบ้าน


“ในระยะสั้นเราอยากให้พื้นที่บ้านของเราเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ อยากให้ทุกคนมองเห็นว่าทุกที่สามารถออกแบบสร้างการเรียนรู้ได้มีวิธีคิด มีไอเดีย สร้างการเรียนรู้ได้ เราพยายามสร้างคน ขณะที่ระยะยาวอยากให้มหา’ลัยไทบ้านเป็นทางเลือกเป็นทางรอดของคนในชุมชนในอนาคต ซึ่งคนต้องพึ่งตัวเองเชื่อมโยงกับชุมชนและต้องทำให้ตัวเองรอด จึงอยากทำให้มหา’ลัยไทบ้านแข็งแรงขึ้น มีสถานะ สามารถออกวุฒิการศึกษา มีใบรับรอง ส่งเสริมให้คนในชุมชนมาเป็นครู โดยเฉพาะชาวบ้านที่มีองค์ความรู้ถูกยกคุณค่าให้มองเห็นและพัฒนาร่วมกัน อยู่รอด อยู่อย่างสร้างสรรค์ได้"


วันนี้มหา’ลัยไทบ้าน ไม่ได้บ้าน ๆ อย่างที่คิด เพราะครูสอยอและชุมชนในพื้นที่ร่วมกันขับเคลื่อนด้วยการใช้นวัตกรรมความคิดนอกกรอบนำมาสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียน เรียนรู้ธรรมชาติแบบลงมือทำ สัมผัสการใช้ชีวิตแบบบ้าน ๆ แต่สร้างความยั่งยืนให้กับคนรุ่นหลังอยู่กับบ้านเกิด มีชีวิตที่ดีในชุมชนที่ดี

 

Sanya Makarin | Sichompusuksa School

Thai Ban University


“Education is everywhere. I want to be home, take part in developing and making my hometown the center for learning.”


Mr. Sanya Makarin, also known as Kru Soi, is the founder of Thai Ban University, a learning facility in his village. He is a teacher at Pink Sueksa School in Chompoo District, Khon Kaen Province. Thai Ban University began with an idea shared by his friends who believe that education should not be monopolized by any organization. Those with the ability to educate have the ability to promote equality, remove inequities, and open up an educational dimension that is not just found in textbooks or classrooms; the actual way of life is after all the finest teaching materials.


This idea is what creates a critical educational network for the future generation. Developing a tourist destination, according to Kru Soi, leads to engagement with the future generation in many areas to build something more important. There is also a proposal to collaborate with Thammasat University Demonstration School to build a cross-curriculum classroom effort that will bring children to study alongside the community to inspire them to be innovators and change agents in society.


Thai Ban University is currently bringing the local community together via inventive outside-the-box thinking to produce learning outside of the classroom. People here can learn about the environment through authentic living at home experiences, and can also generate sustainability for the future generation to live in their hometown and have a decent life in a good community.



















312 views0 comments

Comments


โทรศัพท์ : 02-017 5555  I  โทรสาร :  02-017 5566  I  อีเมล์ : info@nia.or.th

© 2022 สมิทธิ์ บุญชุติมา

  • Facebook
  • Instagram
bottom of page