top of page
Writer's pictureNIA 100 FACES

ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย | งานวิจัยพอลิเมอร์เพิ่มมูลค่าอย่างยั่งยืนเพื่อส่งคืนสู่ชุมชน

Updated: Jun 19, 2021



อาจารย์ผู้ที่ทำให้งานวิจัยพอลิเมอร์ เป็นได้มากกว่าแค่แผ่นกระดาษที่เก็บไว้บนหิ้ง


“ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย” หรือ “อ.อาร์ม” นักวิทยาศาสตร์ นักสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีได้วิจัยค้นคว้าการนำยางพาราให้กลายเป็นวัสดุใหม่ ๆ ที่ทั้งสอดรับกับชุมชน และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม จุดเริ่มต้นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านพอลิเมอร์ของ ดร.ณัฐพงศ์เกิดจากการจับพลัดจับผลู หลังได้ทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท และปริญญาเอกในสายเทคโนโลยีพอลิมอร์ (Polymer Science) และเคมีพอลิเมอร์ (Macromolecular Science) ณ มหาวิทยาลัย Case Western Reserve สหรัฐอเมริกา


ในช่วงแรกของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ดร.ณัฐพงศ์ยอมรับว่าค่อนข้างมีความคิดสวนทางในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะกับการทำงานวิจัยในแบบเดิม ๆ “ความเป็นอาจารย์ถูกนิยามว่าต้องทำวิจัยตีพิมพ์​ แต่คำถามคือใครจะอ่านงานวิจัย ยิ่งหนังสือที่เป็นวิชาการภาษาอังกฤษ ก็ยิ่งลดเปอร์เซ็นต์การอ่านลงไปเรื่อย ๆ ”

เมื่อเป็นอย่างนั้น สิ่งที่ ดร.ณัฐพงศ์ขยับไปโฟกัสกับงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่สามารถนำเอาไปผลิตเป็นสินค้าใช้งานได้จริง ๆ และสามารถเผยแพร่ให้ทุกคนที่สนใจต่อไปได้ เขาค่อย ๆ พัฒนาองค์ความรู้ วิจัยในเรื่องยางพาราไม่ว่าจะเป็น งานวิจัยเรื่องฟองยางธรรมชาติ การศึกษาคุณสมบัติเด่นด้านการยืดหยุ่น รองรับการกระแทกได้ดีของยางพารา และอื่น ๆ มากมาย


สิ่งที่นักวิจัยทุกคนควรคำนึงคือการทำให้องค์ความรู้เกิดประโยชน์แท้จริงแก่ชุมชน โดยที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการขายสิทธิบัตร หรือถ้าหากจำเป็นต้องทำอย่างน้อยควรจะมีราคาถูก

“ในช่วงแรก การวิจัยค้นคว้า สร้างชิ้นงานล้วนเป็นไปเพื่อการประกวด ทว่าสุดท้ายกลับค้นพบว่าหากงานไม่ใช่สุดยอดนวัตกรรมก็ไม่มีใครสนใจ และหากเป็นเพียงของใช้ธรรมดาที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าก็ยิ่งไร้คนเหลียวแล”

จากนั้นเป็นต้นมา ดร.ณัฐพงศ์จึงมุ่งเน้นการวิจัย ค้นคว้าจนก่อเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ทั้งความยั่งยืนของชุมชน สิ่งแวดล้อม การค้า และดึงเอาอัตลักษณ์วัสดุถิ่นใต้ออกมาได้อย่างชัดเจน อย่างผลิตภัณฑ์ที่นอนหมอนยางพารา ที่ยุคนั้นยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก ก่อนจะเกิดความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นผ่านกระแสรักสุขภาพจากยุโรปและจีน เดิมทีที่มีการเรียนการสอนอยู่แล้ว ยิ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดการเผยแพร่องค์ความรู้ งานวิจัย ผ่านการเดินสายอบรมชาวบ้านเพื่อแปรรูปยางพาราให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด นำไปสู่การสร้างวิสาหกิจชุมชนและแน่นอนว่าองค์ความรู้ที่วิจัยทั้งหมดนั้น คือ คุณูปการที่ทางภาคเทคโนโลยีการยางฯ ในฐานะหน่วยการศึกษาได้มอบให้คนในพื้นที่


นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยสร้างชื่ออีกมากมาย อันเป็นนวัตกรรมพลิกของวงการยางพาราไทย เช่น เจลป้องกันแผลกดทับ สำหรับผู้ป่วยติดเตียง ที่ต่อมาพัฒนาไปสู่โครงการ “นางฟ้าชุมชน’ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ตามชุมชนในพื้นที่ชายแดนใต้ สีน้ำยางพาราแปรรูป ตรา Jon Jon ของเล่นปลายเปิดเพื่อเด็ก ๆ และเยาวชน ที่ผลิตออกมาภายใต้แนวคิดหลัก Everlasting Creativity Beyond Play”

ในขณะที่การสร้างรองเท้ารีไซเคิลจากขยะทะเลในชื่อแบรนด์ “ทะเลจร” เองก็เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยพัฒนาองค์ความรู้จากหลักสูตรการเรียนการสอน Upcycling หรือการเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุในอุตสาหกรรมเพื่อลดการเกิดขยะให้น้อยที่สุด โดยนำรองเท้าขยะจากท้องทะเลมารีไซเคิลให้กลายเป็นรองเท้าคู่ใหม่ และดึงเอากลุ่มบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ให้มีบทบาทในฐานะผู้ผลิต นอกจากจะช่วยเยียวยาด้านรายได้แล้ว ยังช่วยสร้างความเข้าใจและตระหนักในประเด็นสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ไม่เพียงเท่านี้ ทะเลจรยังเป็น Open Innovation ที่พร้อมเผยแพร่ให้กับทุกคนเอาไปใช้ได้ตลอด

ดร.ณัฐพงศ์มองว่า สิ่งที่สังคมไทยยังขาดอยู่นั่นคือ องค์ความรู้ต่าง ๆ ควรเปิดให้คนทั่วไปเข้าถึงได้มากกว่านี้ ด้วยเหตุเพราะทุนรอนต่าง ๆ ที่นำมาใช้จ่ายในงานวิจัยแต่ละชิ้น กระทั่งเงินเดือนแต่ละเดือนนั้นล้วนมาจากประชาชนทั้งสิ้น

 

Polymer for People

At the Department of Rubber Technology and Polymer, Prince of Songkla University, Dr. Nattapong Nithi-Uthai or ‘Ajarn Arm’ is a lecturer, a scientist, and an environmentalist. He had backgrounds in Polymer Science and Macromolecular Science from Case Western Reserve University in the United States. Throughout his career path, he has dedicated himself to discover new practical opportunities to enhance the quality of Pará rubber. His knowledge and expertise are grounded in finding new ways to utilize Pará rubber and contributing it to community development and environmental sustainability. In cooperation with the ‘Nang-Fah Chumchon’ (angel of the community) compagin, Dr. Nattapong’s research focused on utilizing Pará rubber as bedding materials have contributed greatly to improving the local economy in the Southern Thailand. While the products from his research outputs were not well-received at first, the demand for such products in the European and Chinese markets are surging today. Dr. Nattapong is also known for his role as the initiator of the ‘Tlejourn’ project. This project seeks to promote the upcycling scheme and aims at both adding value to industrial scraps and minimizing waste generation. The project gives a new life to waste materials that would otherwise be dumped into the ocean and creates a footware brand that is well-received both domestically and internationally. In addition to improving the local economy and well-being, the project also stimulates awareness and understanding of the local environmental issues and serves as an open innovation. “For me, doing research just for publication has no use; practical research that can benefit people does.” Dr. Nattapong finds that the Thai society needs more open innovations, since each research output is ultimately contributed by the taxpayers’ money, one way or another.



49 views0 comments

Comments


bottom of page