ครูผู้เชื่อว่าดนตรีคือประตูไปสู่ความเข้าใจมนุษย์ และความรู้ดนตรีไม่ได้สิ้นสุดแค่ใบปริญญา
“อานันท์ นาคคง” เกิดในครอบครัวของครูศิลปะในสวนย่านฝั่งธนบุรี แต่เขาก็เลือกที่จะอยู่กับเสียงดนตรี ที่แม้จะเป็นศิลปะที่มองไม่เห็น แต่กลับสัมผัสมันอยู่ในทุกช่วงจังหวะของชีวิต
“เสียงดนตรีมีอยู่รอบด้าน ไม่ใช่แค่เครื่องดีดสีตีเป่า ผมฟังทุกอย่าง ผมสนใจเล่นระนาด เล่นซอเลียนแบบเสียงอะไรก็ได้ที่ผมชื่นชอบ จนได้เจอเสียงใหม่ ๆ ที่ระนาด ซอ สอนผมโดยธรรมชาติ กว่าจะได้เรียนกับครูที่เป็นระบบแบบแผน ผมก็ทดลองอะไรไปเองเยอะแล้ว”
การได้เข้าศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาดุริยางคศิลป์ เขามองว่าโชคดีเพราะการเรียนดนตรีในรั้วมหาวิทยาลัยจะมีระเบียบที่คอยกำกับทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ แม้กระทั่งความรู้ที่เรียกว่าปรัชญาดนตรี การวิจัยดนตรี ล้วนแต่มีศาสตร์มีกฎอยู่ทั้งนั้น
“ผมรู้สึกว่ามหาวิทยาลัยล้อมรั้วให้เรามากกว่าคำว่าอุดมศึกษา ถ้าหากอุดมคือความหลากหลาย แต่วิถีการศึกษามันแคบ มันจำกัดความคิดเราเยอะ เช่น เราต้องอ่านโน้ตเพลงให้ถูกต้องเท่านั้น ทั้งที่จริง ๆ แล้วเราน่าจะสนุกกับดนตรีอย่างไรก็ได้”
หลังจากที่เรียนจบปริญญาตรีจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาดุริยางคศิลป์ไทย เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง อานันท์ก็สอบได้ทุนการศึกษาไปเรียนต่อระดับปริญญาโทที่ School of Oriental and African Studies, University of London ในสาขาวิชามานุษยวิทยาดนตรี (Ethnomusicology) หลังจากสำเร็จการศึกษาก็ได้กลับมาสอนหนังสือที่ประเทศไทย ขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่การศึกษาดนตรีนอกมหาวิทยาลัยควบคู่กันไปด้วย ทุกวันนี้อานันท์สอนวิชาดนตรีโลก มานุษยวิทยาดนตรี ดนตรีชุมชน อยู่ที่คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สิ่งที่เขาใช้ในการสอนไม่จำกัดว่าจะต้องอยู่ในตำรา
สนามความรู้ของวิชามานุษยวิทยาดนตรี ไม่ต้องไปไกลๆหรอก แค่เดินตามถนนหนทาง แล้วเปิดหูเปิดใจสังเกตว่ารอบด้านเรามีเสียงอะไร เสียงเหล่านี้มันมีมิติทางวัฒนธรรมซ่อนอยู่ด้วย
“มานุษยวิทยาใช้ดนตรีเป็นประตูบานหนึ่งที่จะเปิดเข้าไปเรียนรู้จักมนุษย์ นักเรียนดนตรีของผมเดินทางออกไปข้างนอกห้องเรียน สนามความรู้ของวิชามานุษยวิทยาดนตรีไม่ต้องไปไกล ๆ หรอก แค่เดินตามถนนหนทาง แล้วเปิดหูเปิดใจสังเกตว่า รอบด้านเรามีเสียงอะไร เสียงเหล่านี้มันมีมิติทางวัฒนธรรมซ่อนอยู่ด้วย”
เขาพานักศึกษาไปยังถนนข้าวสารยามราตรีก่อนจะกลับมาสรุปในห้องเรียนว่าได้เห็นอะไร ได้ยินอะไร และรู้สึกอะไร หรือในวันครบรอบ 30 ปีการเสียชีวิตของสืบ นาคะเสถียร ที่ฟังดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับนักศึกษาวิชาดนตรี แต่อานันท์ก็เลือกที่จะหยิบยกเรื่องนี้มาเชื่อมโยงกับประเด็นทาง Ecomusicology แม้แต่ด้านสังคมการเมือง เขาก็พานักเรียนไปเรียนรู้การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง “การร้องเพลงชาติที่มีสัญลักษณ์สามนิ้วเราก็สนใจ บทเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงหนังเราก็สนใจ” ซึ่งถ้าอาศัยเพียงตำราเอกสาร ไม่มีทางที่จะเข้าใจดนตรีด้วยวิถีมานุษยวิทยาได้
นอกจากการสอนในมหาวิทยาลัย อานันท์ยังทำงานดนตรีคู่ขนานกันไป เขาได้นำแรงบันดาลใจมาจากการเรียนกับอาจารย์บรูซ แกสตันในสมัยวัยรุ่นมาสร้างวง “กอไผ่” ร่วมกับเพื่อน ๆ นักดนตรีไทยหัวก้าวหน้า ที่อยากจะทดลองสร้างเสียงใหม่ ๆ “ดนตรีไทยถูกทำให้เป็นไทยด้วยมายาคติชาตินิยม ไม่สนใจพื้นบ้าน เพื่อนบ้าน แล้วเราก็ขังดนตรีไทยไว้ในกรอบเวลา ฆ่าดนตรีไทยด้วยกรอบความคิดอนุรักษนิยมกันไม่ต้องไปโทษใครหรอก” นอกจากนี้ เขายังได้ก่อตั้งวงดนตรีเยาวชน C asean Consonant รวมเอาบรรดานักดนตรีเยาวชนและครูเพลงจาก 10 ประเทศอาเซียนมารวมเป็นชุมชนดนตรีใหม่ เดินทางไปทั่วเอเชียเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรม “ผมเชื่อว่าดนตรีเป็นวิถีทางหนึ่งที่จะลบความขัดแย้งและเป็นข้อพิสูจน์ว่า เราเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันด้วยสันติได้ ถ้าจะเข้าใจดนตรีไทย เราต้องเปิดใจ เรียนรู้ดนตรีของเพื่อนบ้านด้วยความเคารพ แล้วเราจะเจอสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งจนไม่ต้องเรียกว่านี่ระนาดไทย นี่เอกลักษณ์ไทย คำพวกนี้มันคือการสมมติทั้งนั้น” ความทุ่มเทในชีวิตครูดนตรีที่มีกระบวนการให้การศึกษาที่หลุดจากกรอบ และคนดนตรีที่คิดใหม่ทำใหม่ ในปี 2562 ชื่อของอานันท์ นาคคง จึงได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัลศิลปาธร สาขาดนตรี
Music as Gateway to Understanding People
Anant Narkkong grew up with passion for music. Having believed that studying music at an undergraduate level would be a good idea, he later felt that it might not be the case. “I think that I’m limited by studying music in university. It tied me to a certain aspect while I could actually do whatever I want with music.” After his graduation, he pursued a Master’s degree in Ethnomusicology, School of Oriental and African Studies, University of London. He is currently a lecturer at Silapakorn University. He promotes learning outside classroom as he believes that it broadens learners’ ideas.
“My students study music from the outside where they can see the underlying cultural aspects in things around them.” Also, he takes issues in the society and links them with Ethnomusicology in order to widen his students’ perspectives on music. In addition to his academic work, he forms bands with his fellow musicians, both Thais and foreigners. One of his bands aims to promote new styles of traditional Thai music, while the others aim to disseminate Thai culture across Asia.From all of his works and dedications, he was recognised by Silapathorn as the best contemporary artist of 2019.
Kommentare