เมื่อเกมไม่ใช่ “เรื่องไร้สาระ” แต่เป็น “เครื่องมือสร้างการเรียนรู้และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์”
“แดนไท สุขกำเนิด” คือนักออกแบบบอร์ดเกมวัย 16 ปี ที่เริ่มต้นออกแบบบอร์ดเกมมาตั้งแต่อายุ 12 ปี เกมที่แดนไทออกแบบไม่เพียงแต่เป็นเกมที่เล่นสนุก แต่ยังเป็นเกมที่มุ่งสร้างให้ผู้เล่นได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ในสังคม จนปัจจุบันแดนไทได้ออกแบบเกมมาจำนวนนับไม่ถ้วน และมีหลายเกมที่ถูกนำไปใช้ประกอบการสอนหรืออบรมในโรงเรียนมหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ และในปี 2561 แดนไทยังเป็นหนึ่งในเยาวชนที่ได้ขึ้นไปพูดบนเวที TEDxYouth @Bangkok อีกด้วย
จากการเล่นสนุกสู่การพัฒนานวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วประเทศ
แดนไทเข้าเป็นสมาชิกของชมรมบอร์ดเกมของโรงเรียนตอนอยู่ชั้น ป.4 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เข้าได้ลองเล่นบอร์ดเกมรูปแบบต่าง ๆ และยังได้ทดลองออกแบบบอร์ดเกมเป็นครั้งแรกอีกด้วย แดนไทเป็นผู้แนะนำให้พ่อของเขา ดร.เดชรัต สุขกําเนิดอดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รู้จักกับโลกของบอร์ดเกม “แม่ของแดนไทขอให้ผมไปดูว่าทำไมลูกขลุกอยู่กับบอร์ดเกมทั้งวันเพื่อจะดึงเขาออกจากเกม แต่พอได้เข้าไปเรียนรู้แล้วได้รู้ว่าเกมที่แดนไทเล่นและคิดนั้นเป็นเกมที่สร้างการเรียนรู้และทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์” ดร.เดชรัต กล่าว หลังจากนั้นแดนไทและ ดร.เดชรัต ก็ได้รู้จักกับคนที่สนใจบอร์ดเกมอีกหลายคน และได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มขึ้นมาภายใต้ชื่อกลุ่ม “Deschooling Game” ที่มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การออกแบบบอร์ดเกมเพื่อสร้างการเรียนรู้และการนำบอร์ดเกมไปใช้จริงในห้องเรียน บริษัท และองค์กรต่าง ๆ เพื่อสร้างการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับนักเรียนหรือบุคลากรในองค์กร “คำว่า Deschooling หมายถึงการลดความเป็นโรงเรียนลงนั่นคือเราเชื่อว่าบอร์ดเกมทำให้ทุกคนมีสถานะเท่าเทียมกัน ทำให้ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นและสร้างการเรียนรู้ของตัวเองได้” แดนไทกล่าว โดยเกมหนึ่งที่แดนไทและกลุ่ม Deschooling Game ได้พัฒนาขึ้นจนได้รับทุนผลิตกว่า 500 ชุด คือเกม YellowCards ซึ่งได้ถูกส่งไปตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อใช้ประกอบการเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาการจับปลาเกินขนาด โดยมีที่มาจากการที่ประเทศไทยได้รับใบเหลืองจากสหภาพยุโรปจากการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) ในปี 2015
บอร์ดเกมมันสนุกครับ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าความสนุกคือมันจำลองประสบการณ์ให้ผู้เล่นได้ เราสามารถเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จำลองตามบทบาทนั้น ๆ ได้
“บอร์ดเกม” ทางเลือกของรูปแบบการเรียนรู้
“บอร์ดเกมมันสนุกครับ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าความสนุกคือมันจำลองประสบการณ์ให้ผู้เล่นได้ ในหลายกรณีมันเป็นไปได้ยากมากที่จะให้ผู้เรียนทุกคนได้ไปมีประสบการณ์ของเรื่องที่กำลังเรียนจริง ๆ เช่น เราคงไม่สามารถให้ให้ผู้เรียนได้ไปจับปลาเกินขนาดจริง ๆ ได้ แต่พอเราได้เล่นเกมเราก็จะทดลองได้สวมบทบาทเป็นสิ่งนั้น ๆ ทำให้เราสามารถเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จำลองตามบทบาทนั้น ๆ ได้ มันจึงต่างจากการอ่านหนังสือหรือการฟังที่เราจะได้อ่านหรือฟังประสบการณ์หรือความคิดของคนอื่น ๆ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าบอร์ดเกมจะไปแทนสื่อประเภทอื่น ๆ ได้ แต่ละสื่อก็มีข้อดีและข้อจำกัดของตัวมันเอง บอร์ดเกมก็เป็นเพียงตัวเลือกหนึ่งที่ใช้ประกอบการเรียนรู้ได้เท่านั้น อย่างที่ไต้หวันก็มีการใช้บอร์ดเกมในห้องเรียน ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมัธยม แต่บอร์ดเกมก็ไม่จำเป็นต้องถูกใช้อยู่แต่ในโรงเรียน หลาย ๆ งานที่ผมรู้สึกว่าประสบความสำเร็จเป็นงานที่เรานำเกมไปสร้างการเรียนรู้ในประเด็นเฉพาะให้กับคนในชุมชนหรือองค์กรต่าง ๆ เช่น เกมที่พูดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการหรือความหลากหลายทางชีวภาพ” แดนไทกล่าว
ก้าวต่อไปและการส่งต่อแรงบันดาลใจ
“ตอนนี้มีอีกสิบกว่าเกมที่วางแผนไว้ในหัว ผมอยากออกแบบเกมเพื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวหรือมุมมองที่แปลกใหม่ หรือการเอาแนวความคิดทางปรัชญาเข้ามาผสมผสานในเกม ผมเชื่อว่าคนทุกคนมีไอเดียดี ๆ ได้อยู่แล้ว แต่เราต้องทำให้คนอื่นเชื่อให้ได้ว่าไอเดียของเรามันดีจริง ทำได้จริง และใช้ประโยชน์ได้จริง อย่างบอร์ดเกมเนี่ยนอกจากความสนุกแล้วมันยังเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ได้ด้วย เกมไม่ใช่แค่เรื่องของเด็ก ไม่ว่าคุณจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่มันก็ช่วยให้คุณเรียนรู้ได้” แดนไทกล่าว
The Creativity on Board The Creativity on Board
Danthai Sukkumnoed, a 16-year-old board game designer who started designing board games at the age of 12. His games are not only fun but also able to encourage people to learn about social issues. Until now, Danthai has designed countless games, many of which have been used as teaching instruments or training devices in schools, universities, and various departments across the country. In 2018, he was one of the youngsters who delivered a speech on the TEDxYouth@Bangkok. He joined his school board game club when he was in grade 4, which was the starting point for him to try different types of board games and experimented with designing a board game for the first time.
Danthai introduced his father, Dr. Decharut Sukkumnoed, a former professor of the Faculty of Economics, Kasetsart University, to the world of board games. After that, Danthai, his dad, and others who are interested in board games formed a group named ‘Deschooling Game’. The group aims at designing board games to create learning and implementing board games in classrooms, companies, and organizations. “I believe that everyone has good ideas, but we have to convince others that our ideas are good, workable, and practical. Like a board game, besides being fun, it can also be a learning tool. Games are not just about children. Whether you are a kid or an adult, they can help you learn.”
Comentarios