top of page
Writer's pictureNIA 100 FACES

ศ.(เกียรติคุณ)ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ | จากต้นกล้าสู่ร่มเงาของการศึกษาที่แผ่ไกล

Updated: Aug 22, 2021



วิวัฒนาการของการศึกษาวิทยาศาสตร์ จากปากคำของนักวิทยาศาสตร์อาวุโสผู้ผลักดันการศึกษาวิจัยในประเทศ


จากเด็กชายที่เกิดและเติบโตหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ในอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งของจังหวัดสุโขทัย สู่ผู้ก่อตั้งโครงการวิจัยทางชีววิทยาชั้นแนวหน้าของประเทศ “ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้” แห่งภาควิชาชีววิทยาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ (พ.ศ. 2529) นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2533 เมธีวิจัยอาวุโส (สกว.) และนักชีววิทยาอาวุโสผู้ผ่านการเดินทางอันแสนยาวนานในฐานะนักวิทยาศาสตร์และผู้ถ่ายทอดความรู้มากว่า 50 ปี เปิดเผยกับเราง่าย ๆ ว่า การเป็นนักวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ตัวเลือกแรกในเส้นทางการใช้ชีวิตของเขาและอาจไม่เคยเป็นเมื่อมองย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น


ก้าวแรกของการเดินทาง

ศ. เกียรติคุณ ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ หัวเรือใหญ่แห่ง BRT (Biodiversity Research and Training Program) หรือโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย ผู้ผลักดันการวิจัยและสร้างคนรุ่นใหม่ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เล่าว่า เขาอาจไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์อย่างทุกวันนี้ หากว่าในตอนที่จบป.4 เขาตัวโตพอที่จะช่วยงานที่ร้านตัดผมของพี่ชายที่สวรรคโลกได้ “ตอนนั้นทำอะไรได้ไม่เยอะเพราะตัวเล็ก เพื่อนพี่ชายที่เขาเป็นครูก็เลยแนะนำให้ลองไปเรียนหนังสือก่อนมั้ย ไอ้เรามันก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรนัก เขาให้เรียนก็เรียน” ทิศทางชีวิตของเขาจึงเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงหลังจากย้ายตามพี่ชายไปอยู่ที่ลำปางจนเรียนจบ ม.6 และตามเพื่อนไปสมัครเข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาสามพราน ในเวลาต่อมา “เหมือนมันพลิกไปอยู่อีกโลกหนึ่ง เหมือนเข้าไปปฏิบัติธรรมอยู่ในถ้ำ เรียนอยู่ 2 ปีปรากฏว่ามันดีกว่าที่คาด” นั่นคือช่วงเวลาที่เขาได้เริ่มรู้จักวิทยาศาสตร์ สิ่งที่ชักนำให้เข้าศึกษาในเตรียมแพทยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน) และได้ทุนโคลอมโบไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีสาขาสัตววิทยา และปริญญาเอกสาขาพันธุศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ออสเตรเลียในเวลาต่อมา


ผมโตมาในยุคที่คนถามว่าเรียนวิทยาศาสตร์ไปทำไม มันใช้หากินยังไงได้บ้างนะ ผมเองก็ยังสงสัย สมัยนี้เราเลิกถามกันไปหรือยังนะ

อรุณรุ่งแห่งแวดวงการวิจัย

“ประเทศไทยยุคก่อนนี่มันมีแต่ส่งคนไปเรียนแล้วก็กลับมาสอนหนังสือเป็นงานหลัก ส่วนงานวิจัยเกือบไม่มีเลย ทั้ง ๆ ที่มีสภาวิจัยแห่งชาติแต่ไม่มีเงินทุนวิจัยให้” ศ. ดร.วิสุทธิ์ เล่าเรื่องนี้ด้วยเสียงหัวเราะจุดเริ่มต้นของกรอบคิดเรื่องการศึกษาวิจัยในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นได้จากความช่วยเหลือของมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์จากสหรัฐอเมริกาที่ส่งผ่านมากับการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนแพทย์โดยใช้กระบวนการพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ในการวิจัยและการตรวจวินิจฉัยโรค และริเริ่มก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลในที่สุด จุดผกผันที่ทำให้วงการวิทยาศาสตร์ในไทยตื่นตัวในช่วงปี 2510 คือการที่นักวิจัยสำเร็จการศึกษามาจากต่างประเทศแล้วมีพื้นที่ มีทุนรองรับสนับสนุนงานศึกษาวิจัย “ถ้านักวิจัยไส้แห้งเสียแล้ว ให้คิดทำอะไรก็คงไม่คืบหน้า”

“ผมรู้สึกโชคดีที่เรียนชีววิทยา การได้ออกไปเก็บตัวอย่างแมลงและยุงป่าในพื้นที่ธรรมชาติที่ห่างไกลและได้สัมผัสกับคนชายขอบ เปิดโลกทัศน์ผมมากเลย” การออกไปสำรวจโลกกว้างส่งผลกับการเรียนรู้และมองเป้าหมายใหม่ ๆ ให้กับการพัฒนาการศึกษาวิจัยของ ศ. ดร.วิสุทธิ์ “นวัตกรรม” ของเขาคือสิ่งที่ได้มาจากการค้นพบโจทย์วิจัยและปัญหาที่อยู่นอกห้องปฏิบัติการ เพื่อจุดประกายให้มองหาคำตอบอย่างสร้างสรรค์และรอบด้าน “อยู่ดี ๆ คุณเขียนขอทุนสร้างนวัตกรรม มันก็ไม่น่าจะได้นวัตกรรมกลับมาหรอกเนอะ”


ก้าวย่างอย่างมั่นคง

“มันเป็นเหมือนการเก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน สะสมกันไปทีละนิด” ศ. ดร.วิสุทธิ์ให้ความเห็นว่า แม้การพัฒนาองค์กรการวิจัยทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานจะไม่สามารถสะท้อนผลสัมฤทธิ์ในตัวของมันเองผ่านผลงานการวิจัยที่ถูกตราว่า “ขึ้นหิ้ง” แต่ความก้าวหน้าทางการเกษตร การแพทย์ การอุตสาหกรรม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน เป็นภาพสะท้อนที่ดีที่สุดของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน “ประเด็นก็คือ ถ้าการพัฒนามันไม่ต่อเนื่อง มันก็เป็นตัวฉุดทำให้เราเดินไปข้างหน้าได้ยาก ตรงนี้เป็นจุดที่เราต้องแก้ไข” หนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ขององค์กรการศึกษาวิจัยคือทรัพยากรบุคคล ทั้งคนรุ่นใหม่ที่รักในความรู้ และผู้ใหญ่ที่ใส่ใจกับอนาคตของเด็กมากกว่าอำนาจในการบริหารของระบบราชการไทย “คิดแล้ว ฝันได้ ถ้ามีความพร้อมทุกอย่างให้เขาด้วย เขาก็ออกวิ่งได้เลย ถ้าไม่ทำ มันก็จบและล้มเหลว การคิดดี ทำดี จิตใจดี ตามวิถีพุทธจะมีชัยแน่นอน” ในวัย 78 ปี ศ. ดร.วิสุทธิ์ยังคงสนับสนุนให้ “ออกวิ่ง” อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ


 

An Advocate of Scientific Research

Professor Visut Baimai, head of Biodiversity Research and Training Program (BRT) told us that he might not be a scientist if he was big enough when he was young. “When I was in my 4th grade, I was not big enough to help my bigger brother at his barber shop, so one of his friends suggested me to go to school instead. So, I followed his advice.” That was the moment when he started learning about science, and that led him to his philosophy degree from Australia. However, in the past, lots of people who graduated from foreign countries tended to opt for teaching jobs, and that was because of Thailand’s shortage of fund for those who wanted to further their academic work. Fortunately, in 1967, Thailand started paying attention to this issue. “I was lucky that I chose to study Biology. I went into the woods to collect bugs samples and other stuff. It really opened my eyes.” Getting to leave his laboratory once in a while allows him to expand views on how things are learned and how goals are determined. His concept of “innovation” is that he gets research ideas from the outside. For him, the quality of the department of agriculture, medicine, and industry are the best reflections of advancement in a country’s science.

353 views0 comments

Comments


bottom of page