การเป็นครูนอกจากเป็นอาชีพที่เสียสละแล้ว ยังต้องอดทนและพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ยิ่งในยุคปัจจุบันที่ปัญหาสังคมถามโถมเข้ามาหลากหลายทั้งจากช่องทางปกติ โรงเรียนและครูเป็นที่พึ่งพิงของสังคมในการสั่งสอน ปกป้องเยาวชนให้อยู่ในร่องในรอย ซึ่งนับเป็นผู้วางรากฐานสำคัญของสังคม นายเชาวลิต สาดสมัย หรือ “ครูเชาว์” ผู้เป็นฮีโร่ของเด็กเร่ร่อน บริเวณชุมชนใต้สะพานพระราม 8 ท่านเป็นครูอาสาประจำศูนย์สร้างโอกาสเด็กสะพานพระราม 8 สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน รับผิดชอบฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน คนพิการ เด็กด้อยโอกาส และผู้สูงอายุให้ได้มีความรู้ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
แม้ครูเชาว์จะมีสภาพร่างกายที่พิการ มีครอบครัวที่ไม่ได้สมบูรณ์ ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ เติบโตมาในสถานสงเคราะห์เด็กพิการทางสมองและสติปัญญาที่บ้านราชาวดี (ชาย) แต่ครูเชาว์ก็มานะบากบั่นขยันหมั่นพากเพียร จนสามารถเรียนหนังสือจบปริญญาตรี จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้สำเร็จ หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย ครูเชาว์ตัดสินใจมาเป็นครูอาสา ประจำศูนย์สร้างโอกาสเด็กพระราม 8 เพราะต้องการทำเพื่อเด็กเร่ร่อน และเด็กในชุมชนแออัด เพราะมองเห็นว่าเด็กมีโอกาสออกไปทำความผิดหลายเรื่อง จึงตัดสินใจย้ายมาอยู่ในศูนย์เพื่อจะมาช่วยดูแลเพราะเด็กที่อยู่ในศูนย์หากมีปัญหาก็จะมาปรึกษา เพื่อนคนไหนมีปัญหาก็จะพามาหาครู ส่วนใหญ่ปัญหาที่เด็กเจอเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อม พ่อแม่หาเช้ากินค่ำ มีฐานะยากจนไม่มีเงินไปโรงเรียนก็มาเบิกที่ครู ครูเชาว์คอยดูแลเด็ก ๆ ในชุมชนด้วยใจรัก เป็นเหมือน “พ่อแม่คนที่ 2” ของเด็ก ๆ ก็ว่าได้
ครูต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็ก ครูต้องเป็นผู้รับฟัง บางครั้งเด็กไม่ต้องการคำปรึกษาแต่ต้องการผู้รับฟัง เราจึงต้องปรับตัว
กิจวัตรและงานที่ครูเชาว์ทำทุกวัน คือคอยไปรับไปส่งเด็ก ๆ ที่โรงเรียนและช่วยสอนการบ้าน เข้าไปเยี่ยมเยียนชุมชน ถามไถ่ปัญหา นำนม ขนม และผ้าอ้อม ไปมอบให้เด็ก ๆ ผู้พิการและคนยากจนในชุมชนเป็นประจำ ค่าจ้างแต่ละเงินเดือนที่ครูเชาว์ได้รับมีไม่มาก เขาจึงใช้เวลาหลังเลิกงานไปรับจ้างแบกหาม และออกไปตระเวนเก็บขยะขาย เพื่อนำเงินมาซื้อขนมมอบให้กับเด็ก และนำไปซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอนให้กับเด็ก บางครั้งก็เอาอาหารและข้าวของเครื่องใช้ ยารักษาโรค ไปมอบให้กับคนเร่ร่อนจรจัดย่านสะพานพระราม 8 ได้ประทังชีวิต ช่วงแรก ๆ หลายคนมองว่า ครูเชาว์ไม่ใช่ครู มองว่าเป็นคนเก็บขยะ หรือลูกจ้างที่ทางศูนย์มาให้ทำงาน ชาวบ้านหรือแม้แต่เด็กเองก็ไม่ยอมรับ แต่ครูก็พยายามทำให้เขาเห็นว่าครูอยากเข้าไปช่วยเหลือ พัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กจริง ๆ โดยเริ่มจากพัฒนาศูนย์ให้กลายเป็นแหล่งพักพิงของชุมชน นอกจากมีกิจกรรมทั้งด้านส่งเสริมความรู้ พื้นฐานการใช้ชีวิต ครูเชาว์ยังลงไปดูรายครอบครัวว่าต้องการความช่วยเหลืออะไร มีปัญหาอะไร จนหลายครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สิ่งที่สำคัญช่วยเหลือเด็ก ก็การติดต่อหาหน่วยงานภาคเอกชน เพื่อมาช่วยดูแลค่าเล่าเรียนจนจบปริญญาตรี ปัจจุบันครูเชาว์ขยายความช่วยเหลือที่เรียกว่าขยายความสุขออกไปช่วยเหลือเด็กและผู้ป่วย จากเดิมที่ทำ 6 ชุมชน เป็น 9 ชุมชน 9 พื้นที่
“เด็กหลายคนที่รับทุน เรียนจนจบปริญญาไปเป็นข้าราชการมีความมั่นคงแล้ว ก็กลับมาหาครูเชาว์ บอกว่าอยากจะมาช่วยเหลือดูแลครูเพราะครูช่วยเด็กมาหลายคนแล้ว ทั้งที่ครูไม่เคยบอกว่าต้องกลับมาตอบแทนครูเลย นั่นเป็นจิตสำนึกของเด็กที่คิดได้เอง เมื่อได้รับแล้วก็อยากที่จะช่วยเหลือตอบแทน แต่ครูไม่ได้หวังจะให้มาตอบแทน อยากให้เด็กเรียนรู้เองว่าในสังคมใครจริงใจหรือไม่จริงใจกับเรา”
ตลอดเวลา 15 ปีแล้ว ครูเชาว์ยังคงทุ่มเทแรงกายแรงใจ ทำด้วยความรักและความสุขใจ เพื่อเด็ก ๆ และผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงคนพิการที่อยู่ในศูนย์สร้างโอกาสเด็กสะพานพระราม 8 แห่งนี้ แม้จะต้องพบกับปัญหาความจำกัดและอุปสรรคก็ตาม แต่ครูเชาว์ไม่เคยท้อถอยเพราะมีพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นตัวอย่างและเป็นแรงบันดาลใจทำให้ครูเชาว์ เดินหน้าสร้างความยั่งยืนทางการศึกษาให้แก่น้อง ๆ เด็ก ๆ ในชุมชน โดยครูเชาว์ย้ำว่า เพราะการศึกษาจะทำให้เด็กเหล่านี้พัฒนาตัวเองต่อไปได้
ความยั่งยืนที่แท้จริงคือการให้การศึกษา เพราะถ้าเราสร้างความยั่งยืนด้านการศึกษา เด็กจะพัฒนาตัวเองต่อไปได้ และสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศต่อไป
Chaowalit Sadsamai | Rama VIII Bridge Child Opportunity Center
Education is the key to sustainable development.
“Teachers must learn together with students. They must listen when the students want them to listen. Teachers must adapt.”
The teaching profession requires patience, devotion, and constant self-improvement. Mr Chaowalit Sadsamai, also commonly known as Kru Chao, possesses all these qualities. Kru Chao is the hero of the homeless children in the Rama Bridge VIII neighbourhood. For years, he has been working as a volunteer teacher at the Rama Bridge VIII Child Opportunity Centre.
Growing up in Ban Rachawadee Orphanage, Kru Chao was born with disabilities. However, he never gave in to his destiny. Kru Chao successfully obtained a degree in education from Kasetsart University and started his voluntary work at the centre after his graduation. According to Kru Chao, the major problem for most children at the centre is lack of social and financial well-being; their families live from hand to mouth. Sending the children to school and visiting the community has become Kru Chao’s routine. To make more money, after finishing work at the centre, Kru Chao also goes out to collect garbage for sale. He spends his money buying snacks, stationery, medication, etc. for the children and the people in the community. With his help, many of the children received a scholarship from a private sector to study for a bachelor’s degree. “After graduation, many children came back to visit me.They wanted to show their gratitude and help me back. I never expected that. I just wanted them to know who was sincere and who was not,” said Kru Chao.
Comments