จากดีเจผู้ปลุกปั้น Hot Wave Music Award สู่หัวหอกแห่ง Big Mountain Music Festival เทศกาลดนตรีขนาดใหญ่ที่สุด ในประเทศไทย
Hot Wave Music Award
Bodyslam, Clash และ Lula คือศิลปิน อันดับต้น ๆ ของประเทศ แต่ก่อนหน้าที่พวกเขาจะเป็นที่รู้จักอย่างทุกวันนี้ ศิลปินเหล่านี้ต่างเคยยืนอยู่บนเวที Hot Wave Music Award การแข่งขันวงดนตรีระดับมัธยมศึกษาที่โด่งดังที่สุดในยุคหนึ่ง ซึ่ง “ยุทธนา บุญอ้อม” หรือ “ป๋าเต็ด” คือผู้ปลุกปั้นการประกวดนี้ขึ้น
เพราะกลุ่มเป้าหมายหลักของคลื่นฮอตเวฟคือ เด็กมัธยม ยุทธนาที่ในตอนนั้นยังเป็นดีเจจัดรายการวิทยุอยู่ จึงพยายามจะสร้างสรรค์กิจกรรมที่เฉพาะเจาะจงสำหรับเด็ก ๆ กลุ่มนี้ “ย้อนนึกถึงตัวเองในวัยมัธยมฯ สิ่งที่เราทำคือตั้งวงดนตรี เลยคิดว่าถ้าให้เด็ก ๆ เอาวงดนตรีมาประกวดกันก็น่าจะสนุกดี” ยุทธนาเล่า
กติกาของ Hot Wave Music Award คือสมาชิกในวงต้องมาจากโรงเรียนเดียวกัน และต้องประกวดในยูนิฟอร์มของโรงเรียน ให้ดูแล้วรู้ว่ามาจากโรงเรียนอะไร “เหมือนเวลาเราเชียร์ฟุตบอลน่ะ ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จักนักเตะ แต่พอเขาใส่เสื้อโรงเรียน เราก็พร้อมจะเชียร์โดยทันที เพราะยึดโยงกับเขาได้ มันเลยเกิดเป็นไอเดียการประกวดวงดนตรีในยูนิฟอร์มโรงเรียน” ยุทธนาอธิบาย
Hot Wave Music Award เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2539 แค่เพียงปีแรก มีวงดนตรีระดับมัธยมศึกษาสมัครเข้ามาร้อยกว่าวง ซึ่งวงที่ชนะในปีนั้นคือวง “ละอ่อน” ที่ปัจจุบันคือวง Bodyslam
กล่าวได้ว่า Hot Wave Music Award ไม่เพียงจะเปิดโอกาสให้นักเรียนมัธยมฯ ที่รักในเสียงดนตรี แต่ยังกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของเด็ก ๆ ในยุคนั้น ว่าสักวันพวกเขาจะพาวงดนตรีของตัวเองขึ้นไปสลักชื่อบนเวทีนี้ให้ได้ “ถ้ามองกลับไปในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมาในวงการเพลง ผู้ที่โลดแล่นอยู่ไม่มากก็น้อยต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับเวทีนี้ มันแปลว่า ฮอตเวฟฯ ได้ปูทาง และสร้างแรงบันดาลให้กับศิลปินจำนวนไม่น้อยเลย”
เราสนุกกับการแนะนำวงต่างๆ ให้ผู้คนที่มามิวสิคเฟสติวัลได้ลองฟังศิลปินใหม่ๆ ที่พวกเขาไม่เคยรู้จักมาก่อน
Big Mountain
“ตอนที่ทำฮอตเวฟฯ เราเพิ่งจะเริ่มทำงานไม่นาน แต่กับ Big Mountain ประสบการณ์เราเยอะแล้ว” จุดเริ่มต้นของ Big Mountain จริง ๆ แล้วคือการจัดคอนเสิร์ตเพื่อโพรโมตศิลปินในค่ายสนามหลวงโดยหนึ่งในนั้นคือ Lula ยุทธนาเล่าว่า ในตอนนั้นเริ่มจะมีเทศกาลดนตรีเกิดขึ้นบ้างแล้ว แต่พอจะยกระดับคอนเสิร์ตขึ้นมาเป็นมินิเฟสติวัลเล็ก ๆ ที่รวบรวมศิลปินในค่ายสนามหลวงเพียงอย่างเดียว ก็ดูจะเสี่ยงอยู่ไม่น้อยเพราะศิลปินในค่ายยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก “เราเลยคิดว่า ถ้าจะจัดเป็นเทศกาลดนตรี งั้นก็ทำให้ใหญ่ไปเลยแล้วกัน เรามาทีหลัง ก็ต้องทำให้มันใหญ่”
นั่นจึงเป็นเหตุผลให้งบประมาณในการจัด Big Mountain ครั้งแรกพุ่งสูงถึง 50 ล้านบาท พร้อมด้วยเวทีคอนเสิร์ตอีก 7 เวที ยกกองทัพศิลปินทั้งวงอินดีและวงดัง ๆ ตลอดระยะเวลา 2 วันเต็ม ๆ โดยที่เป้าหมายในปีแรกของยุทธนาคือ ขอแค่ให้เท่าทุนก่อน เขารู้ว่าการจะได้กำไรเป็นเรื่องยาก
“แผนระยะยาวของเราคือ ภายใน 10 ปี Big Mountain จะต้องเป็นเทศกาลดนตรีที่สามารถทำเป็นธุรกิจหลักได้ จากปีแรกที่ได้กำไรแค่หนึ่งแสนบาท พอปีล่าสุดที่เงินลงทุนเพิ่มไปเกือบ ๆ ร้อยล้าน สามารถทำกำไรได้สามสิบล้านบาท ซึ่งถือว่ายืนด้วยตัวมันเองได้แล้ว”
Big Mountain ไม่เพียงจะทำให้คำว่า “มิวสิคเฟสติวัล” ชัดเจนขึ้น คือไม่ใช่แค่การมาดูคอนเสิร์ตอย่างเดียว แต่เป็นการมา Hang out ในบรรยากาศที่ผู้คนมีรสนิยมใกล้เคียงกันมาเจอกัน และศิลปินต่างๆก็เริ่มมอง การได้มาแสดงคอนเสิร์ตที่นี่คือบทพิสูจน์ต่อวิชาชีพของพวกเขา
“ก่อนหน้านี้เวลาพูดถึงมิวสิคเฟสติวัล ความต่างของแต่ละงานคือโลเคชันเท่านั้น แต่ Big Mountain ทำให้เห็นว่า การสร้างคาแรกเตอร์ให้กับเทศกาลดนตรีน่ะสำคัญ ทุกวันนี้งานใหญ่ ๆ ที่ยืนระยะได้ล้วนคาแรกเตอร์ที่ชัดเจน”
ส่วนในแง่ของอุตสาหกรรมดนตรี คุณูปการของ Big Mountain คือ แม้ว่ามิวสิคเฟสติวัลดึงดูดแฟน ๆ ของวงดัง ๆ อย่าง Bodyslam หรือ The Toys แล้วยังพลอยได้ฟังเพลงจากวงดนตรีเล็ก ๆ ที่ไม่เคยรู้จักไปด้วย
“เราไม่ได้มองว่า Big Mountain ให้โอกาสกับวงเล็ก ๆ ได้เล่นนะ แต่ผมมองว่า เราให้โอกาสกับแฟน ๆ ของ วงดัง ๆ ได้รู้จักศิลปินที่เขาไม่เคยฟังมาก่อนต่างหาก เราสนุกกับอะไรแบบนี้ แล้วเห็นว่าพวกเขาสนุกกัน เต้นกัน นั่นแหละคือความสุขของเรา ซึ่งเราก็ได้แต่หวังว่าเขาจะไปบอกเพื่อน ๆ เขาต่อ เพื่อที่วงเหล่านี้จะเป็นที่รู้จักมากขึ้น” ยุทธนากล่าวทิ้งทาย
A Godfather of Thailand’s Music Festivals
Bodyslam, Clash, and Lula are ranked as top famous artists in Thailand, but prior to their success, they joined Hot Wave Music Award, a famous music contest for Thai students in secondary schools. Yuthana Boonorm or Pa Ted is the founder of this well-known music contest. At the time, Yuthana was just a DJ. So, he wanted to inititate some activities that would target young students. The starting point for the Big Mountain Music Festival was to form a concert to promote artists in Sanamluang Music Record, one of whom was Lula. “We would like to upgrade concerts to a mini music festival which consisted of only artists from Sanamluang Music Record, but it would be too risky to do because most of the artists weren’t popular enough. So, we thought that if we did a music festival, it had to be a huge one.” This explains why the budget for the Big Mountain music festival is around 50 million Baht. “It is not only just a concert, but it is also a place for people who share the same taste to hang out. We provide an opportunity for fans of the mainstream bands to know these artists who they have never known before. We saw them dance and have fun.”
Comments